วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556



ตัวอย่างทฤษฏีการให้คำปรึกษา

ทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์
 หลักการของทฤษฎี
1.ทฤษฎีบุคลิกภาพ  ฟรอยด์กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์มีสาระสำคัญดังนี้
            1.1บุคลิกภาพของบุคคลเกิดจากแรงกระตุ้นของสัญชาตญาณทางด้านชีววิทยา  เช่น  ความหิว ความกลัวตาย
          1.2แรงกระตุ้นต่างๆจะนำไปสู่การลดความเครียดทางด้านร่างกาย บางครั้งจะขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมและขอบเขตของศีลธรรม เช่นความต้องการทางเพศ
                1.3ความเจริญเติบโตทางด้านจิตใจเกิดจากการที่บุคคลสามารถจัดการกับแรงกระตุ้นต่างๆได้เหมาะสมหรือไม่
              1.4ความเจริญเติบโตทางด้านจิตใจต้องผ่านไปตามลำดับขั้นของพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็ก
                1.5พฤติกรรมของมนุษย์ถูกกำหนดขึ้นมาจากจิตไร้สำนึกและจิตสำนึก ทุกพฤติกรรมเกิดเพราะมีสาเหตุทั้งสิ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างอิสรเสรี
                1.6ระหว่างจิตไร้สำนึกและจิตสำนึกนั้น จิตไร้สำนึกจะมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมมากกว่าจิตสำนึก
                ทฤษฎีของฟรอยด์โดดเด่นในแง่ของจิตไร้สำนึกมาก        ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจยากในหลายๆกรณี ฟรอยด์กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งของบุคคลเกิดจากจิตไร้สำนึกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของคนไข้ ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่เหมือนกับความขัดแย้งในระดับจิตสำนึก                 เพราะแก้ไขได้ยาก เนื่องจากมีรากฐานมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก และจากแรงขับ ความปรารถนา ความรู้สึกต่างๆที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง หรือมโนธรรม ซึ่งถ้าความปรารถนาเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับจิตสำนึก       จะทำให้เกิดความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ทำให้เกิดการใช้กลไกป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism )
  2.โครงสร้างบุคลิกภาพ 
               ฟรอยด์ได้แบ่งจิตใจมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ คือจิตไร้สำนึก( Unconscious )  จิตกึ่งรู้สำนึก ( Preconscious ) และจิตรู้สำนึก ( Conscious )
                โดยจิตรู้สำนึกเปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ มองเห็นได้ สัมผัสได้ เข้าใจง่าย จิตไร้สำนึกเปรียบเหมือนส่วนของน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ มองไม่เห็น เข้าใจยาก แต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุด ส่วนจิตกึ่งรู้สำนึกจะอยู่ระหว่างกึ่งกลางของจิตสองส่วนนี้
                   2.1จิตไร้สำนึก
                     เป็นที่เก็บความคิดและความรู้สึกที่ถูกเก็บกดทั้งหลาย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้บางครั้งถูกส่งออกมายังจิตสำนึก โดยต้องผ่านการตรวจสอบของจิตกึ่งรู้สำนึกก่อน จิตไร้สำนึกจะเป็นส่วนของสัญชาตญาณทั้งหลาย ความพึงพอใจ ความปรารถนาต่างๆ โดยมันไม่สนใจเรื่องของเวลา เหตุผลหรือความขัดแย้ง ฟรอยด์บอกว่าถ้าความปรารถนาในจิตใต้สำนึกไม่บรรลุผล จะทำให้เกิดการฝันหรืออาการทางโรคประสาทได้
                     2.2จิตกึ่งรู้สำนึก
                    เป็นส่วนที่คอยทำงานเชื่อมประสานระหว่างจิตไร้สำนึกและจิตรู้สำนึก มันทำหน้าที่ในการตรวจสอบสิ่งที่จิตไร้สำนึกส่งมาให้กับจิตสำนึก และมันยังทำหน้าที่คอยเก็บกดความปรารถนาและความต้องการที่ไม่อาจแสดงออกมาได้ลงไปไว้ในจิตไร้สำนึก หากเราทำการกระตุ้นจิตกึ่งรู้สำนึก จะทำให้สิ่งต่างๆในจิตไร้สำนึกออกมาสู่จิตสำนึกมากขึ้น เช่นการสะกดจิต การทำจิตบำบัด หรือในกรณีที่คนไข้เป็นโรคประสาท
                      2.3จิตสำนึก
                    คือจิตปกติในชีวิตประจำวันที่ทำงานประสานกับประสาทสัมผัสทั้งห้า เป็นส่วนของการคิด การตัดสินใจ การมีอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตสำนึกจะมีบางส่วนถูกส่งต่อไปให้กับจิตกึ่งรู้สำนึกเพื่อให้ส่งไปเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก เช่นประสบการณ์ที่เลวร้าย ความฝังใจบางอย่าง ความขัดข้องใจในบางสิ่ง ความผิดหวังท้อแท้ เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้คนเราพยายามที่จะลืมมันให้หมด แต่จริงๆแล้วมันเพียงแค่ย้ายที่จากจิตรู้สำนึกไปสู่จิตไร้สำนึกเท่านั้น

 นอกจากนี้แล้วฟรอยด์ยังได้แบ่งจิตใจออกเป็นอีก 3 แบบ คือ Id .Ego และ Super   Ego
               1. Id  เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตตั้งแต่แรกเกิด เป็นส่วนของสัญชาตญาณและแรงขับต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจและลดความเครียดลง เช่นความหิว ความต้องการทางเพศ ซึ่งการแสดงออกอาจผ่านการสะท้อนของอวัยวะโดยตรง ส่วนการแสดงออกทางอ้อมคือการปลดปล่อยออกในลักษณะความปรารถนา Id นี้เปรียบเหมือนสัญชาตญาณดิบในสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะทำงานในระดับของจิตไร้
   2. Eg เป็นส่วนที่ได้รับการพัฒนามาจาก Id เมื่อทารกเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก บุคคลเริ่มรับรู้ว่าตนไม่สามารถทำอะไรตามความต้องการของแรงขับได้ทุกอย่าง เพราะโลกแห่งความเป็นจริงควบคุมเราอยู่                หน้าที่หลักของ Ego คือ
 1.รับรู้ความรู้สึกที่เป็นจริงที่ได้รับจากโลกภายนอก ทดสอบและประเมินความรู้สึกเหล่านี้
 2.ปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงและขณะเดียวกันก็ต้องทำ ให้ตนเองมีความพึงพอใจด้วย
3.เพื่อควบคุมและสร้างกฎเกณฑ์ให้กับแรงขับทางสัญชาตญาณ
 4.เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกคุกคาม
 3.Superego  เป็นส่วนของค่านิยมทางสังคมที่เด็กได้รับโดยการอบรมจากพ่อแม่เพื่อให้ตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ประกอบด้วย Conscience คือมโนธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งเกิดจากการถูกพ่อแม่ทำโทษ และ Ego-ideal เกิดจากการทำสิ่งที่ดีและถูกต้องแล้วได้รับคำชม รางวัลหรือการยอมรับ เป็นค่านิยมที่เรียนรู้โดยเด็ก ทั้ง Conscience และEgo-ideal จะมีความขัดแย้งกับ id  โดยความขัดแย้งจะเกิดในระดับจิตไร้สำนึก
                  ปัญหาของ Cl เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego หรือ id กับ super-ego และEgo กับ super-ego ถ้าความขัดแย้งส่งผลกระทบทำให้ ego อ่อนแอ เมื่อนั้น Cl ต้องได้รับการบำบัด

    3.พัฒนาการทางบุคลิกภาพ  
            ฟรอยด์ได้ใช้โครงสร้างบุคลิกภาพมาอธิบายพัฒนาการของมนุษย์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Psychosexual Development  ซึ่งพัฒนาการต่างๆเกี่ยวข้องกับด้านชีวภาพและพลังทางเพศ หากมีการชะงักงันหรือถูกขัดขวางในพัฒนาการขั้นไหนก็ตาม จะเกิดปัญหาบุคลิกภาพขึ้นมาได้
   3.1 Oral stage  เป็นพัฒนาการในช่วง 1 ปีแรกของอายุ ทารกได้รับความสุขทางปาก โดยการดื่มและกิน เด็กในวัยนี้ยังไม่รู้จักเหตุผลดังนั้นเขาจะทำตามแรงขับทางชีวภาพอย่างเดียวยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อได้รับการตอบสนองในเวลาหิว ความเครียดจะหายไป ความสุขความพึงพอใจจะเกิดขึ้น แต่ถ้าหิวแล้วไม่ได้กินเด็กจะรู้สึกคับข้องใจ ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น เช่นกลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น กินจุบกินจิบ
  3.2  Anal stage ในช่วงอายุ 2-3 ปี เด็กเริ่มเรียนรู้ถึงแรงกดดันในเรื่องขับถ่าย ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบาย เพราะถูกพ่อแม่ควบคุมในเรื่องนี้ ทำให้เด็กรู้สึกขัดแย้งกับพ่อแม่ ในวัยนี้ Ego เริ่มแยกตัวออกจาก Id และเด็กก็เริ่มรู้จักต่อต้านพ่อแม่ เช่นถ้าพ่อแม่เข้มงวดกับลูกมากเกินไป เด็กก็จะอั้นอุจจาระไม่ยอมถ่าย  เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นบุคลิกภาพแบบ Anal retentive  คือขี้เหนียวและดื้อดึง
 3.3 Phalic stage ในช่วงอายุ 3-5 ปี ในวัยนี้เด็กจะรู้จักความแตกต่างระหว่างเพศ และสนใจในอวัยวะสืบพันธุ์ เด็กชายจะใกล้ชิดแม่และห่างเหินจากพ่อ เกิดปม Oedipus ส่วนเด็กหญิงจะห่างเหินจากแม่และไปใกล้ชิดพ่อ เกิดปม Electra แนวความคิดดังกล่าวถูกโจมตีอย่างมากจากนักจิตวิทยาหลายคน เด็กชายที่มีความชะงักงันของพัฒนาการในช่วงนี้ จะกลายเป็นคนหลงตัวเอง ขี้อวด บางคนชอบมีเพศสัมพันธ์กับหญิงไม่เลือกหน้า ส่วนเด็กหญิงที่มีความชะงักงันของพัฒนาการในช่วงนี้ จะกลายเป็นคนที่ชอบเอาชนะผู้ชายตลอดเวลา
3.4 Latency stage  ในช่วงอายุ 5-6 ปี ความรู้สึกทางเพศจะถูกแทนทีด้วยความรู้สึกรักหรือเกลียด รู้จักใช้ความคิดมากขึ้น ยึดหลักแห่งความจริงมากขึ้น มักจะเข้ากลุ่มกับเพื่อนเพศเดียวกัน เด็กจะเลียนแบบค่านิยมของพ่อแม่มากขึ้น
 3.5 Genital Stage เป็นระยะการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เด็กเริ่มสนใจเพศตรงข้าม เรียนรู้เรื่องความรัก และเพศสัมพันธ์ เป็นช่วงการพัฒนาไปสู่ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเต็มที่ ในขั้นตอนนี้ถ้าพัฒนาการมีความราบรื่น พวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักรักตัวเองและผู้อื่น แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงนี้ เด็กอาจมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม เช่นมีความวิตกกังวลสูง มีความขัดแย้งในใจ ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว
                 พัฒนาการที่ติดขัดในแต่ละขั้นตอน จะทำให้เกิดความชะงักงัน ( Fixation ) ส่งผลต่อบุคลิกภาพบางอย่างของบุคคลได้
   4.แนวคิดในเรื่องกลไกการป้องกันตนเอง
          มนุษย์มีความทุกข์เพราะegoต้องคอยจัดการกับแรงขับของ id และการเรียกร้องของ super-ego ฟรอยด์เทียบเทียบว่า ego เหมือนสนามรบที่ id กับ super-ego เข้ามาปะทะกัน ทำให้บุคคลเกิดความขัดแย้งและร้อนรนใจ บางครั้งเกิดความกลัว ความรู้สึกผิด ดังนั้น ego จึงต้องมีกลไกในการป้องกันตัว
4.1  Repression (การเก็บกด)  คือขจัดแรงกระตุ้นจากสัญชาตญาณไม่ให้ออกมาสู่จิตรู้สำนึก โดยเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก หรือการทำลายความทรงจำที่เกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายหรือเจ็บปวด โดยซ่อนไว้ในจิตไร้สำนึก
 4.2 Rationalization ( การหาข้ออ้าง )   คือการหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง เช่นอยู่บ้านเช่าที่แออัด ไม่มีปัญญาหาที่อยู่ใหม่ ก็ปลอบใจตัวเองว่าอยู่ตรงนี้ไปไหนมาไหนสะดวกดี
4.3   Displacement ( การหาสิ่งทดแทน ) ระบายความรู้สึกจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เช่น  โกรธสามีแต่ไปด่าลูกแทน
 4.4  Conversio การเปลี่ยนแรงกระตุ้นทางด้านจิตใจไปสู่ความแปรปรวนทางกาย  เช่น  ถูกขัดใจก็เป็นลมหมดสติ
4.5 Reaction formation  คือ  การผันแรงขับที่ไม่ต้องการไปเป็นแบบตรงข้าม  เช่น  เกลียดแต่แกล้งทำเป็นว่ารัก
 4.6 Projection คือ การโยนความผิดให้ผู้อื่นตรงกับสำนวนที่ว่ารำไม่ดีโทษปี่โทษกล
  4.7 Denial การปฏิเสธความจริง เช่น แม่พยายามหลอกตัวเองว่าลูกยังไม่ตายทั้งๆที่เขาตายไปแล้ว
4.8 Sublimation   การที่บุคคลเปลี่ยนพลังทางเพศหรือความก้าวร้าวไปสู่พฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เช่น  นักมวย .จิตรกรวาดภาพเปลือย
4.9 Regression การถอยหลังเข้าคลอง  เช่น  ผู้ใหญ่ที่แสดงกิริยาอาการเหมือนเด็ก
4.10 Compensation  คือ การชดเชยส่วนที่ด้อยด้วยการสร้างจุดเด่นด้านอื่นแทน เช่น ขี้เหร่แต่พยายามตั้งใจเรียนจนได้เกียรตินิยม
              เป้าหมายทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์
               1.ดึงแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกมาสู่ระดับจิตสำนึก เป็นการทำให้ ego เข้มแข็งขึ้นทำให้ Client เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรม นำไปสู่การปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ เช่นCl ระบายความโกรธมาสู่เราซึ่งเป็น Counselor โดยมีสาเหตุจากจิตใต้สำนึกเกลียดพ่อ และบังเอิญตัวเรามีอะไรบางอย่างเหมือนพ่อของเขา ถ้าเรารู้ความจริงเช่นนี้ ต้องดึงสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกของClออกมาให้เขารับรู้และเข้าใจ
               2.ลดความวิตกกังวลของ Client เพื่อใช้ระบบเหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆตามข้อเท็จจริง ลดการใช้กลไกป้องกันตัวเอง เช่นทุกครั้งที่พูดถึงแม่ Client จะมีท่าทางอึดอัด พูดตะกุกตะกักและไม่ยอมตอบคำถามใดๆเกี่ยวกับเรื่องแม่ แสดงว่าคนไข้ต้องมีความขัดแย้งกับแม่และใช้กลไกป้องกันตัวเอง เราต้องพูดให้คนไข้เข้าใจและยอมรับถึงปัญหาดังกล่าว แล้วมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่า ทำไม Client จึงไม่อยากพูดถึงแม่ เมื่อรู้ความจริงแล้ว เราจึงจะช่วยเหลือเขาได้
                 3. ช่วยให้ Client สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น รับผิดชอบและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เมื่อเราสามรถชี้ให้ Client เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของเขา จนเขายอมรับแล้ว ต่อไปเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะเข้าใจปัญหาดีแล้ว
                4.หลังจากที่ Client เข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหา ยอมรับและสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว Client จะมีสุขภาพจิตที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความสุข
ขั้นตอนของการให้คำปรึกษา
            ขั้นที่1.การเริ่มต้น ( Orientation )
                ในการเริ่มต้นการให้คำปรึกษา เราต้องซักประวัติของผู้มีปัญหา โดยจะเน้นให้ได้ภาพของความขัดแย้งซึ่งผู้มีปัญหากำลังเผชิญ รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหาที่เขาได้พยายามใช้มาแล้ว ในขั้นเริ่มต้นนี้เราต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับ Client และต้องฝึกให้เขาแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาออกมา
                   สิ่งที่ฟรอยด์เน้นคือการให้ client ได้ระบายความในใจออกมาอย่างเสรี ( Free Association ) ซึ่งเราต้องสังเกต Client อย่างใกล้ชิด เพื่อค้นหาปมปัญหา

                  ในขั้นตอนการเริ่มต้นนี้ สิ่งที่สำคัญคือ Counselor ต้องระวังข้อห้ามต่างๆดังต่อไปนี้
                1.ห้ามเถียง ห้ามทะเลาะ ห้ามท้าทาย Client  ในกรณีที่ Client เล่าเรื่งราว ซึ่งเมื่อฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล แต่ Client พยายามจะขอความคิดเห็นจากเรา เราก็อาจจะพูดในทำนองที่ว่า ผมเข้าใจ คุณมีความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ หรือ ผมเพิ่งรู้จักคุณเป็นครั้งแรก ปัญหาของคุณเป็นเรื่องน่าสนใจ ผมขอเวลาศึกษาเรื่องนี้ก่อน ยังไม่ออกความเห็นตอนนี้
                   2.ห้ามยกย่องหรือให้กำลังใจ Client อย่างผิดๆ เช่น Client หน้าตาดี สวยงาม แต่งตัวดี ทำงานมีเกียรติ พวกนี้บางคนมี Self esteem มากเกินไป การยกย่องจะไปเสริมให้เขาหลงตัวเองมากยิ่งขึ้น
                3.อย่าให้คำมั่นสัญญาผิดๆ  เช่น  บอกว่า ไม่ต้องวิตก มาพบผมประมาณ 3 ครั้งก็จะหายเป็นปกติ โดยปกติถ้า Client ถามว่าต้องบำบัดนานแค่ไหนจึงจะหายเป็นปกติ เราควรจะตอบแบบกลางๆว่า ผมขอศึกษาเรื่องราวของคุณให้ดีเสียก่อน จึงจะตอบคุณได้
                4. ห้ามแปลผลห้ามวิเคราะห์ปัญหาของ Client ให้เขารู้ ต้องรอให้ผ่านช่วงเวลาของการเริ่มต้นไปแล้วจึงจะทำได้
                5.ห้ามถามในสิ่งที่ Client ยังไม่พร้อมที่จะพูด เช่น  ปมด้อย ปัญหาทางเพศ ความล้มเหลวในชีวิต เป็นต้น
                 6.ห้ามร่วมมือกับ Client โจมตีบิดามารดา สามีภรรยา เพื่อน หรือคนใกล้ชิดของเขา แต่เราอาจเลี่ยงไปพูดในทำนองว่า ผมทราบว่าคุณกำลังลำบากใจหรือ เหตุการณ์อย่างนี้ทำให้คุณไม่สบายใจเป็นต้น

                 ขั้นที่ 2.การทำให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เก็บกดไว้ ( Interpretation of Neurotic  Conflicts )
                    ในขั้นตอนนี้ Counselor จะต้องช่วยให้ Client เป็นอิสระจากปัญหาต่างๆในจิตใจโดยใช้ Interpretation เป็นเครื่องมือ
  Interpretation หมายถึงการที่ Counselor ใช้การพูดในหลายรูปแบบและหลายวิธีเพื่ออธิบายหรือชี้แจงให้ Client ทราบความหมายของคำพูด ความรู้สึก ความคิด ทัศนคติและพฤติกรรมของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ Client ไม่เข้าใจ หรือไม่ทราบความหมายของสิ่งเหล่านี้ เพราะมันอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก  การใช้ Interpretation นี้ ถือว่าเป็นการเผชิญหน้ากับ Client หรืออาจกล่าวได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้สิ่งที่อยู่ใน Unconscious กลายเป็น Conscious



 ทฤษฎีการให้การปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์ ( Gestalt Therapy ) 
                      ทฤษฎีการให้การปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์  เป็นการบำบัดทางประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นที่การมีสติหรือการตระหนักรู้ ถึงความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และการทำงานของกายกับใจที่ควบคู่กันไป กล่าวคือเป็นการทำงานของความคิด ความรู้สึก และการรับรู้ ที่รวมกันเป็นกระแสธาร ลักษณะของจิตบำบัดแนวเกสตัลท์จึงเป็นแบบ Holistic Approach ซึ่ง Perls เชื่อว่าจะทำให้เกิดบูรณาการได้มากกว่าที่จะแยกออกมาวิเคราะห์เป็นบางส่วน
การพิจารณามนุษย์ตามแนวคิดของทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบจิตวิทยาเกสตัลท์
          จิตวิทยาเกสตัลท์มีแนวความคิดเกี่ยวกับการพิจารณามนุษย์ดังนี้คือ
  มนุษย์เป็นอิสระจากอดีต เขาอยู่ในปัจจุบันมนุษย์ไม่สามารถจัดการกับอดีตและอนาคตได้อย่างแน่นอน แต่บุคคลสามารถดำเนินการกับปัจจุบันได้แน่นอนกว่า
มีคำกล่าวเกี่ยวกับแนวความคิดของเกสตัลท์ว่า
จงอยู่กับปัจจุบัน อย่าอยู่กับอดีต และอย่าเลื่อยลอยไปกับอนาคต
1.  ทฤษฎีมีความเชื่อเหมือนทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบบุคคลเป็นศูนย์กลางและทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบภวนิยม ที่ว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพสามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองและมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
2.  มนุษย์พยายามพัฒนาตนเองแต่มีความหมายแตกต่างจากการพัฒนาตัวเองของทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบผู้รับบริการแบบศูนย์กลาง ซึ่งเน้นให้ผู้รับบริการพัฒนาตนเองในอนาคต แต่แนวคิดของการให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์เน้นให้ผู้รับบริการพัฒนาตนเองในปัจจุบัน
3.  มนุษย์สามารถจัดระบบชีวิต และแก้ปัญหาของตนเองได้ (Self regulation) เมื่อเกิดอารมณ์เครียดหรือเกิดความต้องการด้านต่างๆ ขึ้น มนุษย์จะพยายามทำให้เกิดความสมดุล เช่น พยายามลดความเครียดลง หรือพยายามกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะสนองความต้องการ แต่ถ้ามนุษย์มัวแต่รำพึงรำพันถึงอดีตหรือแสวงหาอนาคตโดยไม่นึกถึงภาวะปัจจุบัน เขาก็จะไม่สามารถจัดระเบียบหรือลดความเครียดด้านจิตลงได้
         4.การที่มนุษย์ตระหนักรู้ (Awareness) ในความต้องการของตน จะช่วยให้มนุษย์หาทางตอบสนองความต้อง   การ แต่ถ้าพยายามหลีกเลี่ยงไม่นึกถึงความต้องการนั้น จะใช้พลังงานไปในการเก็บกดความต้องการซึ่งจะทำให้เครียดหนักขึ้นและไม่สามารถตอบสนองความต้องการใดๆ ได้
5.  บุคคลประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่สัมพันธ์กันทั้งร่างกาย อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและการรับรู้ เป็นการผสมผสานกัน(integration)เป็นการแสดงออกอย่างคนที่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
6.  มนุษย์เกิดมาโดยไม่ได้มีความดีและความชั่วติดตัวมาด้วย
7.  มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การที่จะเข้าใจบุคคลจะต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมของเขาด้วย
 8.บุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือกตอบสนองต่อสิ่งเร้า
9.การตระหนักต่อความรู้สึก ความคิด อารมณ์และการรับรู้ของตนในสภาพการณ์ต่างๆ ช่วยให้บุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม

หลักการของจิตวิทยาเกสตัลท์ที่นำมาให้บริการปรึกษา
                จิตวิทยาเกสตัลท์เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ผู้นำแนวคิดของจิตวิทยาเกสตอลท์คือ เคิท คอฟกา (Kurt Koffka) วูฟแกง เคอเลอร์ (Wolfgang Koehler และแมค เวอร์ไทเมอร์ (Max Wertheimer)
                 หลักการของจิตวิทยาเกสตัลท์ที่นำมาใช้ให้บริการปรึกษา(Behaviorism) คือพฤติกรรมนิยมเน้นหน่วยย่อยของพฤติกรรมตอบสนอง ซึ่งนักจิตวิทยาเกตตัลท์เห็นว่าจะทำให้เกิดข้อจำกัดมากเกินไป โดยมีแนวความคิดว่ามนุษย์จะรวบรวมสิ่งเร้าทั้งหลายและประมวลเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นการรัยรู้ที่มีความหมายทั้งหมดของบุคคล (the whole) สิ่งเร้าต่างๆ จะมีความหมายก็ต่อเมื่อบุคคลจัดระบบสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันและประมวลกันเข้าเป็นการรับรู้ของเขา
                 เฟิลส์ได้นำหลักการของจิตวิทยาเกสตัลท์ที่ว่า มนุษย์จะรับรู้สิ่งเร้าต่างๆ โดยนำสิ่งเร้านั้นมาสัมพันธ์กันเป็นสิ่งที่มีความหมาย (closure) นั่นก็คือ มนุษย์พยายามที่จะประติดประต่อสิ่งต่างๆ ให้มีความหมายในการรับรู้ของเขา และมีความต้องการจะแก้ปัญหาที่ติดค้างอยู่ในใจ (unfinished business) ให้สำเร็จลุล่วงลงนอกจากนั้นเฟิลส์ได้ตีความของคำว่าการรับรู้ว่าคือการรวมการรับรู้ของบุคคลที่มีต่อประสบการณ์ อารมณ์และการรับสัมผัสของเขาเข้าด้วยกัน
                การรับรู้ของบุคคลในสิ่งที่เขาให้ความสนใจและตระหนักจะเปรียบเทียบเป็นภาพ(figure) และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เปรียบได้กับพื้น(ground) มนุษย์ไม่ได้ตอบสนองต่อทุกๆ สิ่งเร้า การที่บุคคลจะตอบสนองขึ้นอยู่กับการที่เขาตระหนักหรือให้ความสนใจต่อสิ่งเร้า ตัวอย่างเช่น ขณะที่ฉันนั่งลงเขียนหนังสือ ฉันตระหนักถึงสิ่งต่างๆ อย่างไม่เด่นชัดนัก เช่นเก้าอี้ที่ฉันนั่ง ปากกาที่ฉันถือ ห้องที่ฉันอยู่ สิ่งที่ฉันตระหนักมากที่สุดคือ การรวบรวมความคิดของฉันและเขียนลงบนกระดาษ ขณะที่ฉันเหนื่อยและเมื่อยฉันตระหนักหรือให้ความสนใจต่อความปวดเมื่อยตามร่างการและรู้สึกถึงรสชาติกาแฟที่ดื่ม กาแฟช่วยให้ฉันสดชื่นขึ้น แต่ในที่ฉันตระหนักต่อการเขียนหนังสือ รสชาติของกาแฟจะเป็นเรื่องรองลงมาจะเห็นได้ว่าจิตวิทยาเกสตัลท์เน้นการรับรู้ของบุคคลที่มีต่อประสบการณ์ อารมณ์ และการรับสัมผัสของเขา สิ่งที่เขารับรู้หรือให้ความสนใจในขณะนั้นเปรียบเหมือนภาพ(figure) ส่วนสิ่งเร้าอื่นๆ เปรียบเหมือนพื้น (ground) ซึ่งภาพและพื้นนั้นอาจเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ เช่น เปลี่ยนความสนใจหรือความตระหนักกลับไปกลับมาระหว่างการเขียนหนังสือกับรสชาติของกาแฟ
                หลักการของการให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์เน้น  ปัจจุบัน  เพราะอดีตก็จากเราไปแล้ว  และ อนาคต เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง การคิดถึงแต่อดีตเป็นการหนีการคิดดำเนินการกับปัจจุบัน หรือหนีการเผชิญปัญหาในปัจจุบัน  และการที่บุคคลครุ่นคิดถึงแต่อนาคตจะก่อให้เกิดความวิตกกังวล  ดังนั้นปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเน้น แต่คนส่วนใหญ่คิดถึงปัจจุบันแต่เพียงชั่วครู่ชั่วขณะเท่านั้น  ฉะนั้นผู้ให้บริการปรึกษาควรพยายามให้ผู้รับบริการตระหนักในปัจจุบันมากกว่าที่จะคิดถึงประสบการณ์
ความเชื่อของการบำบัดแนวเกสตัลท์ พอสรุปได้ดังนี้
 1. มนุษย์มีลักษณะเป็นหน่วยที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตนเอง ร่างกาย อารมณ์ ความคิด ประสาทสัมผัสและการรับรู้ มีการทำงานที่สัมพันธ์กัน มนุษย์จึงมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเข้าใจมนุษย์นั้นจะเข้าใจเฉพาะในแต่ละส่วนไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของหน่วยเต็มทั้งหน่วย คือบุคคล
 2. มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม การที่จะเข้าใจมนุษย์ให้ลึกซึ้งจำเป็นต้องเข้าใจทั้งบุคคล และสภาพแวดล้อมของเขา
 3. มนุษย์เป็นผู้เลือกที่จะแสดงพฤติกรรมของตนเองในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก และภายใน
 4. มนุษย์มีความสามารถที่จะรับรู้หรือสัมผัสถึงความคิด อารมณ์ และการรับรู้ของตนเอง
 5. มนุษย์มีประสิทธิภาพในการรับรู้ถึงตนเอง มีสติ (Self Awareness) จึงทำให้มนุษย์มีความสามารถในการตัดสินใจเลือก พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขา
 6. มนุษย์มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 7. มนุษย์ไม่สามารถนำตนเองไปเผชิญกับอดีตหรืออนาคตได้ เขาสามารถเผชิญเหตุการณ์ด้วยตนเองได้กับปัจจุบันเท่านั้น นั้นคือ คนเราสามารถรับรู้ถึงประสบการณ์ส่วนตนจากปัจจุบันเท่านั้น อดีตหรืออนาคตสามารถรับรู้ได้จากปัจจุบัน โดยการจำหรือการคิดคาดหวัง
8. โดยพื้นฐานของธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราไม่ดีหรือไม่เลวโดยกำเนิด

แนวคิดกับสภาวะปัจจุบัน (The Now)
                    สำหรับ Perls แล้ว การมีชีวิตอยู่ก็คือ ปัจจุบันอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และอนาคตก็ยังเป็นเรื่องที่มาไม่ถึง มีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่มีความหมายสำคัญ สิ่งที่ Perls เน้นมากที่สุดก็คือ ที่นี่และและเดี๋ยวนี้ (Here and Now) Perls เชื่อว่าพลังของคนเรามีอยู่กับปัจจุบัน การจะดำรงชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ก็จะต้องอยู่อย่างมีคุณภาพ และตรงตามสภาพความเป็นจริงของชีวิต บุคคลที่ไม่สามารถรับรู้ถึงสภาวะปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เนื่องจากการสูญเสียพลังงานที่ใช้ไปกับการครุ่นคิดคำนึงถึงสิ่งที่ผ่านมาในอดีต และมุ่งมั่นจะวางแผนในอนาคตอย่างไม่รู้จบ บุคคลนั้นก็จะเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา
                      สำหรับสภาพของผู้มีทุกข์ Perls เชื่อว่ามักจะเป็นบุคคลที่ขาดการตระหนักรู้ กล่าวคือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพกล่าวคือมีชีวิตอยู่เพียงแค่ให้หมดสิ้นไปวันหนึ่งเท่านั้น รู้สึกช่วยเหลือตนเองไม่ได้ สิ้นหวังในชีวิต ไม่รู้จะจัดการกับตนเองอย่างไร ขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง เป็นบุคคลที่มีธุรกิจคั่งค้างอยู่ในตัวอย่างมาก และหาทางออกโดยการหนีจากสภาวะปัจจุบันไปอยู่กับอดีตและอนาคต

จุดมุ่งหมายของการให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์
 1. ให้ผู้รับการปรึกษาเปลี่ยนพฤติกรรมจากการพึ่งพาผู้อื่น มาสู่การพึ่งพาตนเอง รับผิดชอบต่อตนเองพัฒนาไปสู่การมีวุฒิภาวะ
2. ให้ผู้รับการปรึกษามีประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง สามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
 3. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ใช้พลังงานของชีวิตอยู่กับปัจจุบัน รู้จักปล่อยวางอดีต โดยการทำความรู้สึกที่คั่งค้างให้สมบูรณ์ และไม่วิตกเกี่ยวกับอนาคต
 4. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษากล้าเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างไปจากบุคคลอื่น เข้าใจในค่านิยมและกฏเกณฑ์ของสังคม
บทบาทของผู้ให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์
 1. ผู้ให้บริการปรึกษาจะไม่ทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะตีความหมาย ประสบการณ์ของผู้รับบริการหรือคาดคะเนอนาคตให้ผู้รับบริการ
 2.ผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่
 3.ผู้ให้บริการปรึกษาจะเปิดโอการให้ผู้รับบริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการให้บริการปรึกษาให้มากที่สุด
 4.ผู้ให้บริการปรึกษาจะสังเกตความไม่สอดคล้องกันระหว่างคำพูดกับอารมณ์ของผู้รับบริการ  แล้วป้อนกลับไปให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของเขาในขณะนั้น 

เทคนิคและวิธีการที่ให้การปรึกษา 
                 การให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์มีเทคนิค และวิธีการมากมายที่จะช่วยผู้รับการปรึกษาเกิดการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง พึ่งพาตนเอง รับผิดชอบต่อการกระทำและความรู้สึกของตนเอง โดยผู้ให้การปรึกษาเลือกใช้เทคนิคต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ อย่างไรก็ตามผู้ให้การปรึกษาต้องตระหนักว่าเทคนิคต่างๆจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายของการให้การปรึกษาได้นั้น จะต้องอิงอยู่กับสัมพันธภาพที่ดีของการให้การปรึกษา เทคนิคที่สำคัญได้แก่
                  1. การฝึกใช้ภาษา เพื่อช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับความรู้สึกและการกระทำของตนเอง โดยผู้ให้การปรึกษาใช้เทคนิคดังนี้
 1.1 ให้ผู้รับการปรึกษาใช้สรรพนามแทนตนเองตรงๆ ( Personalizing Pronouns) ช่วยให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ตนเอง คิด พูด และมีความต้องการอย่างไร และรับผิดชอบต่อการพูด ความรู้สึกและการกระทำของตนเอง เพราะบุคคลมักจะปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง จึงมักจะเอ่ยลอยๆ เช่น ใครๆก็คงรู้สึกไม่อยากต่อสู้กับปัญหาแบบนี้ การที่ไม่รู้สึกอยากต่อสู้ ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย แต่การเอ่ยแบบนี้เป็นการเลี่ยงที่จะรับรู้ว่าตนเองรู้สึกอย่างนั้น
                     ตัวอย่าง
 ผู้รับการปรึกษา : ใครๆก็คงรู้สึกไม่อยากต่อสู้กับปัญหาแบบนี้
ผู้ให้การปรึกษา : ใครๆในที่นี้คุณคงหมายถึงตัวคุณ ให้ลองพูดประโยคนี้ใหม่ว่าฉันรู้สึก ไม่อยากต่อสู้กับปัญหานี้
 ( เมื่อผู้รับการปรึกษาพูดแล้ว ให้สังเกตลักษณะน้ำเสียง ท่าทางที่พูด แล้วถามถึงความรู้สึก ว่ารู้สึกอย่างไร )
1.2 เปลี่ยนคำถามให้เป็นประโยค (Changing question to statement) ผู้ให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์จะไม่พยายามตอบคำถามที่ผู้รับการปรึกษาถาม เพื่อเลี่ยงที่จะกล่าวถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง แต่จะกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ถึงความรู้สึกนั้น และให้พูดออกมาในลักษณะของประโยคบอกเล่า
                      ตัวอย่าง
   ผู้รับการปรึกษา : ทำไมเราต้องยอมทำตามคนอื่นด้วย
  ผู้ให้การปรึกษา : คุณต้องการพูดว่าอะไรกันแน่จากคำถามนั้น
   ผู้รับการปรึกษา : ผมอยากบอกว่า ผมอยากทำอะไรตามใจผมบ้าง
   1.3 เน้นความรับผิดชอบ (Responsibility) โดยทั่วไปบุคคลมักเลี่ยงความรับผิดชอบ โดยการบอกว่าตนเองทำไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมักจะ ไม่ทำ หรือ ไม่อยากทำ
                  ตัวอย่าง
ผู้รับการปรึกษา : ผมควบคุมอาหารต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
    ผู้ให้การปรึกษา : คุณควบคุมอาหารไม่ได้หรือคุณไม่อยากควบคุม
    ผู้รับการปรึกษา : ผมไม่อยากควบคุม
     ผู้ให้การปรึกษา : คุณควบคุมได้ แต่คุณไม่อยากทำ คุณก็พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการตัด
       สินใจของคุณ หากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
                  2. ฝึกผู้รับการปรึกษาให้รับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆที่ตนเองมี ทั้งความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงโดยไม่พยายามปฏิเสธในส่วนที่เป็นตนตามอุดมคติ ที่เรียกร้องให้ทำตามค่านิยมของสังคม มีเทคนิคดังนี้
2.1 การพูดโต้ตอบด้วยตนเอง ( Game of Dialogue) ในขณะที่ผู้ให้การปรึกษาต้องสังเกตภาษาท่าทาง โดยให้ผู้รับการปรึกษาถ่ายทอดความรู้สึกที่ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงไปที่มือข้างขวา แล้วถ่ายทอดความรู้สึกที่แท้จริงไปที่มือข้างซ้าย แล้วพูดโต้ตอบกันถึงความรู้สึก 2 ด้านนี้ เทคนิคนี้ช่วยให้เกิดความกระจ่างถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ความวิตกกังวลก็จะลดลง สามารถเลือกตัดสินใจได้และรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเอง โดยไม่รู้สึกว่าถูกบงการจากผู้อื่น
 2.2 เทคนิคเก้าอี้ว่างเปล่า ( The empty chair technique) เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ถึงความรู้สึกขัดแย้งภายในตัวเองให้กระจ่างขึ้น มีวิธีโดยใช้เก้าอี้สองตัว ตั้งประจันหน้ากันไว้ แล้วให้ผู้รับบริการปรึกษาแสดงบทบาทและคำพูด ในส่วนที่เป็นความต้องการที่แท้จริง เมื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวหนึ่ง พูดไปกับเก้าอี้ตัวที่ว่างที่เป็นส่วนของความรู้สึกตามอุดมคติ ที่บอกตนเองว่าควรทำอะไร แล้วย้ายไปนั่งเก้าอี้ตรงข้ามที่ว่าง แล้วแสดงบทบาทเป็นส่วนของความรู้สึกตามอุดมคติที่ขัดแย้งอยู่แล้วโต้ตอบกลับไป เทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจความรู้สึกทั้งสองที่ตนมีได้กระจ่างมากขึ้น
                     3. ฝึกให้ผู้รับการปรึกษาใช้จินตนาการ ( Fantasy game) เป็นการย้ายความรู้สึกและความต้องการของตนเองไปยังสิ่งอื่น แล้วจินตนาการว่าถ้าเป็นตนเองจะมีความรู้สึกและต้องการอย่างไร
1. เกมการซ้อมบท ( Role Playing) เป็นการแสดงบทบาทเมื่อผู้รับการปรึกษาได้เผชิญเหตุการณ์ด้วยตนเอง โดยให้แสดงบทบาทที่ตนคิดเอาไว้ออกมาจริงๆ
                        4. การแสดงบทบาทที่กล่าวโทษผู้อื่น ( Playing the projection) เป็นการช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ตระหนักถึงความรู้สึกที่ไม่ดีภายในตนเอง ที่ตนเองไม่กล้ายอมรับ และมักจะคอยจับผิดและกล่าวโทษผู้อื่น ให้เกิดความพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเอง โดยไม่กล่าวโทษผู้อื่น
                       5. ฝึกให้ผู้รับการปรึกษาเพ่งอยู่กับความรู้สึกตนเอง ( Staying with the feeling) เป็นการให้ผู้รับการปรึกษาได้รับรู้ความรู้สึกของตนเองในสภาวะปัจจุบันให้ได้ และให้กล้าเผชิญกับความจริงโดยไม่เลี่ยงความรู้สึกที่ไม่อยากสัมผัส ซึ่งมักจะเป็นความรู้สึกที่คั่งค้างต่อประสบการณ์ต่างๆในอดีต ที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมปัจจุบัน 
คำวิจารณ์การให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์
       ข้อดี
         1. ช่วยให้ผู้รับบริการเผชิญกับความจริงให้กล้าสู้ความจริงและสู้ชีวิต เผชิญกับความรู้สึกที่อยากหลีก   หนีให้หลุดพ้นจากความรู้สึกท้อแท้หมดหวัง
         2. สนับสนุนให้ผู้รับบริการมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และการตัดสินใจของตน ให้ผุ้รับบริการสามารถเอาชนะอุปสรรคและแก้ปัญหาได้
  3.เน้นปัจจุบัน ไม่เพ้อฝันถึงอนาคตหรือติดข้องอยู่กับอดีต
  4.กลวิธีของเกสตัลท์จะใช้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อบุคคลเกิดปัญหาดังที่กล่าวไปแล้ว
   ข้อเสีย
       1. ผู้ให้บริการเป็นผู้ชี้นำให้ผู้รับบริการทำอย่างนั้น อย่างนี้มากกว่าปล่อยให้ผู้รับบริการดำเนินการเอง
       2.  วิธีนี้อาจไม่ได้ผลกับผู้ที่มีอารมณ์เปราะบาง  วิธี บางอย่างอาจก่อให้เกิดความเครียดทางอารมณ์
      3. วิธีให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์นี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับ
            - บุคคลที่ไม่ตระหนักในความรู้สึกของตน
            - บุคคลที่ต้องการเฉพาะข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเฉพาะหน้า
            - บุคคลที่มีปัญหาวิกฤต
            - บุคคลที่ไม่สามารถใช้จินตนาการได้ดีพอที่จะร่วมกิจกรรมต่างๆ
                       กล่าวโดยสรุปเกสตัลท์จะไม่ใช่การวิเคราะห์ การวินิจฉัย และการทดสอบ ดังนั้นการตั้งคำถามจึงเป็นคำถามประเภท อะไร และ อย่างไร จะไม่ใช้คำถาม ทำไม ส่วนการตีความนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้รับการปรึกษา


 ที่มา :http://www.gotoknow.org/posts/407356

                  http://www.learners.in.th/blogs/posts/346870
ผู้รวบรวม   



ครีม ออม อาย คิง

1 ความคิดเห็น: